วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

นักจิตวิทยา-Psychologist

นักจิตวิทยา-Psychologist

นิยามอาชีพ
  ผู้ที่ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา-Psychologist เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานและจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจแนวจิตความปรารถนา แรงจูงใจ อารมณ์ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการแสดงออก โดยอาศัยวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เข้าช่วยในการศึกษา รวบรวมนำข้อมูลทางจิตวิทยามาตีความ และนำผลของการศึกษาวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อป้องกัน และบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรมให้กลับมาเข้าใจ ในชีวิตที่ถูกต้อง

ลักษณะของงานที่ทำ
  1. ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยา โดยการใช้เครื่องมือทดสอบจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐาน ร่วมกับ การสังเกตพฤติกรรม และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ และแปลผลการทดสอบ 
2. บำบัดรักษาทางจิตวิทยา เป็นวิธีการบำบัดรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา ซึ่งแตกต่างจากจิตแพทย์ อาจบำบัดรักษา โดยการใช้ยาได้ 
3. ศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางจิตวิทยาใน และป้องกันโรคเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยา ในรูปแบบการสอน การฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจ และสนใจจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อพัฒนาตนเองให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น หรือพ้นจากภาวะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา สุขภาพจิต 
ปัจจุบัน นักจิตวิทยาแบ่งตามประเภทของสาขาการศึกษาดังนี้ 
- สาขาจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำหลักการทาง จิตวิทยามาใช้ในการสำรวจปัญหาทางการศึกษา ตลอดจนสร้างหลักการ ทางจิตวิทยาที่มีระบบระเบียบวิธีการของตนเอง ถือเป็นศาสตร์หนึ่งทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ 
- สาขาวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ความสามารถทางพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างเป็นลำดับขั้นตอนว่า มีกระบวนการพัฒนา แต่ละวัยอย่างไร รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ต่างๆ ของการพัฒนาโดยเฉพาะทางจิตใจ 
- สาขาจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมอย่างเป็นระบบ เนื้อหาวิชารวมการปฏิสัมพันธ์ทั้งหมด เช่น ศึกษาการรับรู้การตอบสนอง ระหว่างบุคคล อิทธิพลของบุคคลที่มีต่อผู้อื่น ฯลฯ 
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการช่วยให้คนรู้จัก และเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งทุกด้าน ช่วยให้คนรู้จักโลกและสิ่งแวดล้อมของตนช่วยให้คนรู้จักการพัฒนา และสามารถนำศักยภาพหรือความสามารถที่ตนมีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น รู้จักเลือก และตัดสินใจอย่างฉลาดเพื่อแก้ปัญหาและปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข 
- สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำความรู้ทาง จิตวิทยามาใช้ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล พัฒนาการบริหาร การจูงใจลูกจ้าง วิจัยตลาด วิจัยด้านมนุษยสัมพันธ์ เพื่อตอบสนองธุรกิจและอุตสาหกรรม 
- สาขาจิตวิทยาคลีนิค (Clinical Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการปรับตัวของมนุษย์โดยพยายามค้นหาสาเหตุว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือมีความผิดปกติทางจิตใจนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรนักจิตวิทยาคลีนิคใช้หลักการและความรู้ทางจิตวิทยามาวิเคราะห์ และบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น ปัญหาทางสุขภาพจิตโรคประสาท การติดยาเสพติด ความผิดปกติทางเชาวน์ปัญญา ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ตลอดจนปัญหาการปรับตัวอื่นๆ เพื่อค้นหาวิธีการปรับตัวและการแสดงออกที่ดีและเหมาะสมกว่า

สภาพการจ้างงาน
  ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา-Psychologist ส่วนใหญ่รับราชการในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลจิตเวช โดยจะได้รับ ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ในอัตรา 6,360 บาท 

สำหรับภาคเอกชน หรือองค์การระหว่างประเทศ อาจจะได้รับเงินเดือนประมาณ 7,500-8,000 บาท หรืออาจจะถึง 15,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กร และสถานที่ทำงานในแต่ละพื้นที่ 
ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40-48 ชั่วโมง มีการปฏิบัติงานพิเศษนอกเหนือเวลาราชการในกรณีมีโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะอย่าง 
ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา-Psychologist จะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากเงินเดือนตามระเบียบของ ทางราชการ หรือของภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางปฏิบัติของแต่ละสถานประกอบการ

สภาพการทำงาน
  ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา-Psychologist โดยทั่วไปปฏิบัติงานในห้องทำการรักษาเหมือนกับแพทย์ทั่วไป และมีการออกไปเยี่ยมคนไข้หรือชุมชน การปฏิบัติหน้าที่อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายจากคนไข้ ซึ่งมีอารมณ์ไม่ปกติได้ง่าย ดังนั้น ห้องทำงานจึงควรจัดให้มีความปลอดภัย และมีผู้ช่วยดูแลในเรื่องความปลอดภัยของนักจิตวิทยาด้วย 
นักจิตวิทยาจะต้องปฏิบัติงานร่วมกับทีมจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และพยาบาลจิตเวช

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบนักจิตวิทยา-Psychologistต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสังคมศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ในประเภทสาขาการศึกษาจิตวิทยา 
2. มีความเมตตา โอบอ้อมอารี มีใจรักในอาชีพการบำบัดและรักษา และชอบบริการช่วยเหลือผู้อื่น และผู้ป่วย 
3. มีคุณธรรม จริยธรรม มีความอดทนสูงและใจเย็น 
4. ควรมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความร่าเริง อาจจะต้องมีการสอบขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ต้องมี 
ผู้ที่จะประกอบนักจิตวิทยา-Psychologistควรเตรียมพร้อมดังต่อไปนี้ : ต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่า หรือสายศิลป์ เพื่อสอบคัดเลือก เข้าศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคณะสังคมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์ เป็นต้น

โอกาสในการมีงานทำ
  เนื่องจากในประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ สังคมเกิดสภาพบีบคั้นทางด้านการมีงานทำ คือการลดลงของรายได้ การเลิกจ้างงาน จนถึงส่งผลกระทบไปถึงสมาชิก ในครอบครัว ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เกิดความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงหันไปพึ่งยาเสพติดประเภทกล่อมประสาทที่มีการซื้อขายกัน อย่างสะดวกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยคิดว่าจะช่วยผ่อนคลายความเครียด และหนีปัญหาได้ แต่เมื่อติดยาเสพติดแล้ว บางรายอาจทำร้ายบุคคลในครอบครัว อีกทั้งสถิติการฆ่าตัวตาย ในประเทศไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้ และได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ รักษาดูแล ป้องกันและบำบัดรักษา คือ นักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ เพื่อช่วยเหลือบริการบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ทางด้านจิตใจขึ้นที่โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ รวมทั้งการติดตั้งโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต ตลอดจนจัดตั้งเว็บไซต์ เพื่อบริการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ในการดำเนินชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้แนวทาง แก้ปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้อง ดังนั้น อาชีพนักจิตวิทยาจึงเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างมากในยุคปัจจุบัน 
นอกจากนี้ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาทุกแห่ง รวมทั้งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร อย่างเช่น มูลนิธิต่างๆ ที่ดูแลเด็กที่ด้อยโอกาส หรือหญิงที่ถูกทำร้าย ตลอดจน คลีนิกรักษาผู้เสพยาเสพติด ก็ต้องการนักจิตวิทยาเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังมีการจ้างงานจำนวนน้อย

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  สำหรับผู้ประกอบนักจิตวิทยา-Psychologist ในโรงพยาบาลของรัฐบาล จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามสายงาน จนถึงระดับสูงสุด ที่ระดับ 8 สำหรับในภาคเอกชนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงสุดตามโครงสร้างขององค์กร

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  ครู - อาจารย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในมูลนิธิต่างๆ องค์การระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลในองค์กรธุรกิจเอกชน เจ้าหน้าที่องค์กรและพัฒนาเอกชน ทั่วประเทศ

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักจิตวิทยาคลีนิค ศูนย์สุขวิทยาจิต (Child Mental Health Center) การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) สหทัยมูลนิธิ โทร. 381 8834-7 e-mail : sahathai@asiaaccess.net.th


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น