วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ช่างภาพ

ช่างภาพ



ช่างภาพ หรือ ช่างถ่ายภาพ คือบุคคลที่มีความชำนาญในการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง อาจจัดได้ว่าเป็นศิลปิน เนื่องจากช่างภาพสามารถจัดวางองค์ประกอบ (composition) ที่จะปรากฏในรูปภาพก่อนลงมือถ่าย คล้ายกับวิธีของศิลปินวาดภาพทั่วไป แต่เป็นศิลปินที่วาดภาพด้วยแสง หรืออาจจะจัดเป็นเพียงแค่ช่างผู้มีความชำนาญเท่านั้น
ช่างภาพจำเป็นต้องเข้าใจแสงและองค์ประกอบจึงจะสามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบและสวยงามได้ ซึ่งจะเกี่ยวกับทฤษฎีของแสงในฟิสิกส์โดยตรง แต่ช่างภาพนำคุณสมบัติของแสงมาประยุกต์ใช้ให้เป็นศิลปะได้ อาจมีวิธีในการนำเสนองานของตนที่แตกต่างกันไปตามความคิดและจินตนาการของตน ซึ่งผลงานนั้นอาจไม่ถูกต้องหรือสวยงามตามมุมมองของคนทั่วไป

นักสถิติ

นักสถิติ



นักสถิติ เป็นบุคคลซึ่งทำงานกับสถิติทางทฤษฎีหรือประยุกต์ วิชาชีพนี้มีทั้งในภาคเอกชนและรัฐบาล แก่นของงานคือการวัด ตีความและอธิบายรูปแบบโลกและกิจกรรมมนุษย์ในสถิตินั้น สาขานี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับสังคมศาสตร์ปฏิฐานนิยมอย่างมาก แต่บ่อยครั้งเน้นกับวิธีทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงมากกว่า
การรวมความรู้ทางสถิติกับความชำนาญในวิชาอื่นมีทั่วไป การนำไปใช้ก็หลากหลาย นักสถิติสามารถใช้ความรู้ของตนกับการผลิต วิจัย การเงิน การแพทย์ สิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นและตามธรรมชาติ การประกันภัยและรัฐบาล พวกเขามักถูกว่าจ้างให้สนับสนุนการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการหรือดูแลการควบคุมคุณภาพในการผลิต

ธรรมชาติงาน

ตามข้อมูลสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐอเมริกา จนถึง พ.ศ. 2551 มี 22,600 งานถูกจัดเป็นนักสถิติในสหรัฐอเมริกา ในบรรดาผู้ทำงานสถิติ มีประมาณ 30% ทำงานให้กับภาครัฐ (ระดับสหพันธรัฐ รัฐหรือท้องถิ่น) นอกเหนือจากนี้ มีบุคคลอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้สถิติในงานของตนแต่ใช้ชื่องานนอกเหนือจากนักสถิติ[1] อาชีพนักสถิติถูกมองว่าเป็นวิชาชีพ นักสถิติส่วนใหญ่ทำงานในสำนักงานและมีชั่วโมงทำงานปกติและดังนั้นจึงถูกมองว่าเป็น คนงานปกขาว (หมายถึง พนักงานสำนักงาน) นักสถิติส่วนน้อยทำงานอิสระเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางสถิติ
งานนักสถิติส่วนมากต้องสำเร็จปริญญาโทในวิชาสถิติหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง นักสถิติอาชีพหลายคนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

บรรณาธิการ

บรรณาธิการ



บรรณาธิการ (คำสนธิ: บรรณ (หนังสือ) + อธิการ (เจ้าการ); อังกฤษ: Editor) เป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดทำ รวบรวม ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุม เนื้อหาและภาพทั้งหมด ที่จะตีพิมพ์เป็นหนังสือ หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดว่าจะออกเรื่อยไปตามลำดับ โดยใช้ชื่อเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ และนิยมใช้เป็นคำย่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “บ.ก.” ส่วนคำที่ใช้เรียกกระบวนการลักษณะดังกล่าว คือ บรรณาธิกร (อังกฤษ: Editing)
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ บรรณาธิการ ไว้ว่า ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์[1] และในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2550 ระบุว่า บรรณาธิการ หมายความถึง บุคคลผู้รับผิดชอบ ในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุ หรือเอกสาร ที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย เมื่อหนังสือพิมพ์ มีความหมายรวมไปถึง นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ ที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในทำนองเดียวกัน

ประเภทของบรรณาธิการ

- บรรณาธิการอำนวยการ (อังกฤษ: Managing Editor) ทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงาน ระหว่างฝ่าย---- บริหาร และฝ่ายปฏิบัติการของสิ่งพิมพ์
- บรรณาธิการที่ปรึกษา (อังกฤษ: Advising Editor) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บรรณาธิการ ในกรณีต่างๆ
- บรรณาธิการบริหาร (อังกฤษ: executive editor) หรือ บรรณาธิการใหญ่ (อังกฤษ: editor-in-chief) ทำหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายนโยบายของสิ่งพิมพ์ในภาพรวม ทั้งเรื่องธุรกิจ และการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ
- บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา (อังกฤษ: Publisher Editor) ทำหน้าที่จัดการ และรับผิดชอบในการพิมพ์ ตลอดจนจัดการ ให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายออกไป ด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาย หรือให้เปล่า รวมถึงการเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ลงตีพิมพ์ โดยมักจะตกเป็นจำเลย ในกรณีที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนมีผู้ให้ฉายาว่า “บ.ก.ติดคุก”
- บรรณาธิการภาพ (อังกฤษ: Newspicture Editor) ทำหน้าที่รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอภาพในสิ่งพิมพ์ทุกกรณี โดยมักมีการแบ่งแยกในโครงสร้างของนิตยสาร
- บรรณาธิการข่าว (อังกฤษ: News Editor) ทำหน้าที่ตรวจแก้ รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอเนื้อหาข่าวในกลุ่มเนื้อหาที่แตกต่างกันไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ภูมิภาค กีฬา บันเทิง เป็นต้น จากนั้นจึงนำเสนอไปยังบรรณาธิการบริหารอีกชั้นหนึ่ง
สาราณียกร (อังกฤษ: The Mouthpiece) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับบรรณาธิการ ในกรณีของสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ เช่น หนังสือรุ่นนักเรียนนักศึกษา หนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะทำงานของบรรณาธิการ ในการช่วยตรวจสอบบทความแทนบรรณาธิการ รวมถึงการเขียนคอลัมน์ที่สำคัญในฉบับ เช่น บทบรรณาธิการ, คอลัมน์จดหมายถึงบรรณาธิการ (อังกฤษ: Letter to the Editor) รายงานพิเศษ (สกู๊ป; อังกฤษ: Scoop), บทสัมภาษณ์ เป็นต้น

ผู้กำกับภาพยนตร์

ผู้กำกับภาพยนตร์



ผู้กำกับภาพยนตร์ คือผู้ที่มีหน้าที่กำกับในขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์ โดยผู้กำกับภาพยนตร์มีหน้าที่สร้างจินตนาการจากบทหนัง แล้วถ่ายทอดความคิดทางด้านศิลปะออกมาตามแบบที่ตนเองต้องการ และเป็นคนสั่งฝ่ายอื่น ๆ ในกองถ่าย อย่างเช่น ฝ่ายผู้กำกับภาพ ผู้กำกับการแสดง ฝ่ายเทคนิค นักแสดง ออกมาอยู่ในองค์ประกอบทางศิลป์ที่ตนเองต้องการบนแผ่นฟิล์มหรือในระบบดิจิตอล
อย่างไรก็ดี ผู้กำกับภาพยนตร์อาจจะควบคุมทุกอย่างตามที่ตนคิดไว้ไม่ได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในโรง เพราะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ จะเป็นคนกำหนดงบประมาณที่จะให้ผู้กำกับใช้จ่ายได้ หรือสั่งตัดต่อหนังในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าโรงฉายหากหนังมีความยาวเกินไป หรือเพื่อดึงการจัดเรตหนังให้ต่ำลงมา หรือบางฉากอาจจะมีการเพิ่มโฆษณาเข้าไป ดังนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แปลกหากผู้กำกับจะมีปัญหาให้คุยกับผู้อำนวยการสร้างเสมอ ๆ

ความรับผิดชอบ

ผู้กำกับภาพยนตร์มีหน้าที่ควบคุมงานเกือบทุกอย่างในกองถ่าย ที่เกี่ยวข้องกับภาพและเสียง การดำเนินเรื่อง มุมกล้อง บทสนทนา สเปเชียลเอฟเฟกต์ ที่จะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ในทุกๆแง่มุมที่เขาต้องการจะเผยแพร่ออกมา ผู้กำกับบางคนมีอำนาจในการจ้างคนที่จะต้องร่วมงานด้วยบ่อย ๆ อย่างเช่น ฝ่ายกำกับภาพ ซาวเอ็นจิเนียร์ ฝ่ายจัดแสง ฝ่ายจัดหาโลเคชั่น ฝ่ายคอสตูม ฝ่ายสเปเชียลเอฟเฟกต์ โดยผู้อำนวยการสร้างจะไม่ลงมายุ่งในเรื่องพวกนี้ด้วยมากนัก หากผู้กำกับภาพยนตร์ยังใช้ทุนสร้างอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

วิธีการกำกับ

   วิธีการกำกับของผู้กำกับแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเลย ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์ เพราะผลงานที่ได้จะมีความหลากหลาย เนื่องจากศิลปะการกำกับหนังไม่มีทฤษฏีที่ตายตัว แบ่งประเภทออกได้คร่าวๆดังนี้
   ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง โดยงานในกองถ่ายจะต้องเป็นไปตามที่ผู้กำกับสั่งทุกระเบียดนิ้ว หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า auteurs
   พูดให้แนวทางคร่าวๆกับนักแสดงว่าฉากนี้ต้องการจะออกมาให้อยู่ในอารมณ์แบบไหน และให้นักแสดงไปฝึกซ้อมบทพูดกันเอาเอง หนังบางเรื่องของ โรเบิร์ต อัลแมน กำกับโดยแนวนี้
   แทบไม่สั่งอะไรกับนักแสดงเลย อาจจะบอกเพียงแค่ว่า ให้เดินออกมาจากบ้าน แต่ไม่ยอมบอกว่า ให้เดินออกมาจากบ้านทำไม ผู้กำกับในแนวนี้ อย่างเช่น หลุยส์ บุนเนล
   มีพลอตหนังคร่าวๆ และชอบด้นบทสนทนาของตัวละครในกองถ่ายสดๆ เช่น หว่อง คาไว
   ชอบเขียนบทเองและกำกับเอง โดยอาจจะนำนวนิยายมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ หรือเขียนบทจากจินตนาการของตนเอง เช่น วูดดี อัลเลน, สแตนลีย์ คูบริก, บิลลี ไวลด์เดอร์,เควนติน แทแรนติโน,ริชาร์ด ลิงเลเตอร์
   ร่วมงานกับนักเขียนบทคนใดคนหนึ่งตลอด โดยจะเปลี่ยนนักเขียนบทน้อยมาก อย่างเช่น ยาสุจิโร โอสุ/โคโกะ โนดะ
   ชอบทั้งกำกับเองและแสดงเป็นตัวละครเอกเองด้วย อย่างเช่น เฉินหลง, วูดดี อัลเลน, หม่ำ จ๊กมก, ชาร์ลี แชปลิน, เอ็ด วูด
   กำกับแต่ภาพยนตร์แนวที่ตัวเองถนัดเท่านั้น เช่น จอร์จ ลูคัส, โรเบิร์ต โรดริเกวซ, เดวิด โครเนนเบิร์ก, สองพี่น้องวาโชว์สกี้, เซอร์จิโอ ลีโอเน, อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก, เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน

ฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์ 



ฟรีแลนซ์ (อังกฤษ: freelance) หรือ ฟรีแลนซ์เซอร์ (อังกฤษ: freelancer) คือ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ที่ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงาน หรือองค์กร หรือบริษัทใดๆ พนักงานฟรีแลนซ์จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง การรับเงินจากนายจ้าง ก็จะเป็นลักษณะใดก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจของทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง
ในปัจจุบัน พนักงานบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้รักอิสระ หันมารับจ้างเป็นฟรีแลนซ์มากกว่า 20%[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากความชอบส่วนตัวในการใช้ชีวิต หรือลักษณะการทำงาน
งานนอก งานราษฎร์ หรือ งานฝิ่น เป็นคำศัพท์ฮิต ที่ใช้เรียกลักษณะงานที่รับมาทำเพิ่ม สำหรับผู้ที่มีความผูกมัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่นั้นแบ่งเวลาทำงานลักษณะนี้ได้ไม่ค่อยดีนัก อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพขึ้นได้ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเครียดกับงานมากมายหลายชนิดจนเกินไป
ข้อเสียของฟรีแลนซ์ คือ งานที่ไม่แน่นอนและไม่มั่นคง รวมถึงรายได้ที่ไม่แน่นอนตามมา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานบริษัทหรือหน่วยงาน เช่น สวัสดิการ หรือ บำนาญ ด้วย

โอแพร์

โอแพร์



โอแพร์ (อังกฤษ: au pair) คือตำแหน่งผู้ช่วยงานที่เป็นชาวต่างชาติและพักอาศัยร่วมภายในบ้าน โดยทั่วไปโอแพร์จะมีหน้าที่ในการเลี้ยงเด็กและทำงานบ้าน โดยได้รับเงินค่าแรง
โอแพร์เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า "โอแปร์" (au pair) แปลตรงตัวว่า "เท่าเทียมกัน" ซึ่งหมายความว่าผู้ช่วยงานจะมีความเท่าเทียมกับบุคคลภายในบ้าน แตกต่างจากพนักงานรับใช้ ในขณะเดียวกันเจ้าของบ้านและคนทำงานโอแพร์นั้นจะได้มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้มีการสนับสนุนโครงการโอแพร์ โดยนอกเหนือจากการให้มาช่วยทำงานแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้เรียนต่อในระยะเวลาหนึ่งถึงสองปีเป็นการแลกเปลี่ยน

นักกฎหมาย

นักกฎหมาย



นักกฎหมาย หมายถึง ผู้ที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายเป็นวิชาการประกอบการงานที่ตนปฏิบัติในสาขาต่าง ๆ เป็นคำรวมหมายความถึงผู้ประกอบการงานทางกฎหมายทุกประเภท ไม่เฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศาล ซึ่งอาจแยกได้ดังนี้

ผู้ว่าความในวงการศาล

ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น
- หมอความ (lawyer) และทนายความ (attorney) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- counsel (ทนายความ) ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งใช้คำว่า
อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ให้คำนิยามไว้ว่าทนายความ หมายถึงผู้ดำเนินคดีในศาลแทนคู่ความ หมอความ หมายถึงผู้ทำงานทางกฎหมายโดยทั่วไป
ในอังกฤษจะแบ่งออกเป็น
- barrister ทำงานว่าความในศาล
- solicitor ทำงานก่อนเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล
ในฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น
- avocat แถลงความในศาล เช่นเดียวกับ barrister
- avoue เป็นผู้แทนตัวความในศาล
นักนิติศาสตร์และศาล[แก้]

นักนิติศาสตร์ (doctrine) คือผู้ให้ความเห็นทางกฎหมายในทางทฤษฎี ซึ่งอาจอยู่นอกวงการศาล ความเห็นทางกฎหมายของศาลกับความเห็นทางทฤษฎีอาจไม่ตรงกันได้ นักนิติศาสตร์ กับศาล (jurisprudence) ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นตรงกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้อยู่ในวงการศาลและไม่อยู่ในวงการศาล ก็จัดเป็นนักกฎหมาย

อัยการ
อัยการคือทนายของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นักกฎหมายนอกวงการศาล
นอกวงการศาล ยังมีนักกฎหมายที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งอาจเป็นทนายความหรือไม่ก็ได้อยู่ด้วย โดยทำหน้าที่ร่างสัญญา ให้ความเห็นทางกฎหมาย ดำเนินการอื่น ๆ เกี่ยวกับกฎหมาย เป็นต้น

นักกฎหมายภาครัฐ (นิติกร)
ผู้ที่ทำงานทางกฎหมายของราชการนอกวงการศาลโดยเฉพาะ ได้แก่ นิติกร สำหรับนิติกรในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะทำหน้าที่ตรวจสอบร่างกฎหมาย และให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานราชการที่ร้องขอ ซึ่งถือเป็นผู้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางปกครองรูปแบบหนึ่ง ในลักษณะการตรวจสอบจากองค์กรของรัฐที่นอกเหนือจากศาลปกครอง

ครู-อาจารย์
เป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายในระดับที่สามารถให้ความรู้กับผู้เรียนได้ตามโรงเรียนมัทธยมต้น มัทธยมปลาย จนไปถึงขั้นอุดมศึกษา (ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย) ในที่นี้การเป็นครูอาจารย์นั้นมีอิทธิพลต่อนักกฎหมายเป็นอย่างมากเพราะแต่ละสถาบันจะมีอุดมการณ์ในการปลูกฝังที่แตกต่างกันไปและครูอาจารย์ที่สอนกฎหมายนั้นบางครั้งอาจจะเป็นผู้ที่แต่งตำราวิชากฎหมายต่างๆให้นักเรียน-นักศึกษาก็เป็นได้

ดีเจ

ดีเจ



ดีเจ (อังกฤษ: DJ ย่อมาจาก Disc jockey) หมายถึงผู้จัดรายการเพลงประกอบความรู้เกี่ยวกับเพลงหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้ฟัง ในสถานที่ฟังเพลง ในที่นี้มี 2 ความหมายคือ ดีเจที่จัดรายการเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และดีเจที่เปิดเพลงตามไนต์คลับ หรือตามงานบันเทิงต่าง ๆ โดยในขณะทำหน้าที่ดีเจ อาจมีการเล่นแผ่นหรือปรับเสียงในลักษณะต่าง ๆ เพื่อดัดแปลงให้ได้เสียงที่แปลกใหม่ไปจากเดิม
ดีเจที่มีความหมายถึงนักจัดรายการวิทยุ รูปแบบการจัดรายการอาจเป็นรายการที่มีกำหนดเวลาแน่นอน หรือเป็นรายการที่ให้บริการตลอดวัน เช่น รายการกรีนเวฟ หรือรายการอยู่เป็นเพื่อนคุยกับนักศึกษาที่ดูหนังสือดึกๆ หรือรายการโชว์ดึก โดยมีหัวข้อคุยเป็นประเด็นเรื่องราวตามกระแสเหตุการณ์บ้านเมืองและโลกแทรกไว้ในรายการ หรือรายการเพื่อสุขภาพ รายการเพื่อผู้บริโภค รายการเพื่อการศึกษา การทบทวนข้อสอบของนักเรียนเพื่อเตรียม สอบเอ็นทรานซ์ การตอบปัญหาสุขภาพจิตสำหรับผู้ฟังที่มีปัญหาคับข้องใจ หรืออาจเป็นรายการสายด่วน เพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อน โดยนักจัดรายการวิทยุจะเปิดเพลง สลับการให้ความรู้หรือการตอบปัญหา หรือสนทนากับผู้ฟังตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้ฟังทั่วไป