วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สมุห์บัญชี Accountants-General

สมุห์บัญชี-Accountants-General


นิยามอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานสมุห์บัญชี-Accountants-General ได้แก่ ผู้ให้บริการทางการบัญชีแก่สถานประกอบกิจการธุรกิจบุคคล สถาบันเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาล รวมถึงการควบคุมดูแลการทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี การตรวจสอบ การรับรองความถูกต้อง และความครบถ้วนในการทำบัญชี และเอกสารทางการเงิน รายงานสถานการณ์การเงินต่อ เจ้าของกิจการ

ลักษณะของงานที่ทำ
  ทำงานเกี่ยวกับการบัญชี และวางระบบงานทางบัญชี ในสถานประกอบกิจการ สถาบันเอกชน และหน่วยงานของรัฐบาล 
เก็บรวบรวมเรื่อง การเข้าเรื่อง และการทำบัญชี ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการเงิน เช่น การฉ้อโกง ที่อาจเกิดขึ้นได้ การจ่ายค่าธรรมเนียมในการชำระความ การเลิกกิจการ และการล้มละลาย 
วิเคราะห์บันทึกต้นทุน ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคา ค่าสึกหรอของทรัพย์สิน และค่าโสหุ้ย เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนของสินค้า และบริการ 
ทำหรือตรวจสอบเงินได้พึงประเมิน เพื่อยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมิน และส่งให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประเมินภาษี 
จัดทำ และรับรองเอกสารทางการเงินเสนอต่อเจ้าหน้าที่ธุรการ คณะผู้อำนวยการ ผู้ถือหุ้น หรือสาธารณชน ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ 
ให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน การบริหารงานบัญชี และการวางระบบงานบัญชี 
ช่วยวางนโยบาย และวิธีดำเนินการทางด้านงบประมาณ 
ตรวจบัญชี และบันทึกทางการเงินต่างๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดบัญชี เช่น บัญชีประจำวัน หรือบัญชีรายวัน เพื่อให้เชื่อแน่ว่าการบันทึกจำนวนเงิน และรายการต่างๆ ลงในสมุดบัญชีเป็นไปโดยถูกต้อง 
อาจทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีในกรณีที่เลิกล้มกิจการ หรือเป็นผู้แทน ผู้ตัดสิน หรือผู้ชี้ขาดในเรื่องที่ต้องการเจรจา หรือการตัดสินเกี่ยวกับการบัญชี 
อาจควบคุมผู้ปฏิบัติงานประจำอื่นๆ อาจเชี่ยวชาญในงานบัญชีสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น บัญชีต้นทุน บัญชีภาษี หรือการวางระบบงานบัญชี และอาจมีชื่อเรียกตามความเชี่ยวชาญนั้นๆ 
ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนรายการต่างๆ จากบัญชีรายวันไปลงบัญชีแยกประเภท 
นับเงินสดและตรวจสอบยอดเงินในธนาคาร หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย ตรวจดูเช็คเงินสด เพื่อสอบยอดเงิน ลายเซ็น การขีดฆ่า และวันที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีเงินสด 
สอบรายการในบัญชีรายวัน และบัญชีแยกประเภทกับใบเสร็จจ่ายเงินสด ใบเสร็จซื้อของและ ใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่าย ตรวจสอบรายการสิ่งของ ตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงิน 
อาจทำเอกสารทางการเงินให้แก่ลูกค้า เช่น เอกสารแสดงกำไร และขาดทุน และงบดุล หรือรายงานแสดงรายการต่างๆ โดยละเอียด เช่น ต้นทุน สินทรัพย์ หนี้สิน ปริมาณการขายกำไรสุทธิ และค่าเสื่อม

สภาพการจ้างงาน
  ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาและ ประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท หรือองค์กรที่จ้างงานสมุห์บัญชี เนื่องจากผู้ที่จะประกอบสมุห์บัญชี-Accountants-General จะต้องมีประสบการณ์ในงานบัญชีมาบ้างจึงจะทำงานในตำแหน่งสมุห์บัญชีได้ดี ดังนั้นค่าตอบแทนจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัวค่าจ้างที่ได้

นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้ว ในภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนอาจได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส ค่าล่วงเวลาเป็นต้น 
ผู้ปฏิบัติงานสมุห์บัญชี-Accountants-General โดยปกติทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40-48 ชั่วโมง และอาจต้องทำงานล่วงเวลา เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน

สภาพการทำงาน
  สมุห์บัญชีทำงานในสถานที่ทำงานที่มีสภาพการทำงานเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ และ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สำนักงานทั่วไปในการทำงานจะต้องใช้เครื่องคิดเลข หรืออาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ช่วยงานบันทึกรายการ และการทำบัญชีในรูปต่างๆ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบสมุห์บัญชี-Accountants-Generalต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
- มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางการบัญชี บริหารธุรกิจ หรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยรับรอง 
- มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่ เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับการเงิน 
- มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประโยชน์อย่างแท้จริงในการตัดสินใจ 
- มีความรอบคอบ วิจารณญาณ เพื่อพิจารณาหาหลักปฏิบัติที่เหมาะสม และส่งผลกระทบในด้านลบให้น้อยที่สุดแก่หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง 
- รับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง และให้ความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพ และสังคม 
- รับผิดชอบในการวิเคราะห์จัดหาระบบวิธีการ และรูปแบบบัญชีที่ดี เหมาะสม และเอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด 
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์มีประสบการณ์ในด้านโปรแกรมเกี่ยวกับการทำบัญชี มีความรู้ภาษาอังกฤษตามสมควร มีความรู้ระบบภาษีของไทย 
ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า ซึ่งกำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2543 ไว้ดังนี้ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว กรณีที่เป็นพนักงานของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะจัดอยู่ในกลุ่มผู้ทำบัญชี 

ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณวุฒิดังต่อไปนี้ 
1. ผู้ทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่ง ณ. วันเปิดบัญชีในรอบปีบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30,000,000 บาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30,000,000 บาท ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการ-บัญชีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี 
2. ผู้ทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีดังต่อไปนี้ 
- ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่ง ณ. วันเปิดบัญชีในรอบปีบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียน หรือสินทรัพย์รวม หรือรายได้รวมรายการใดรายการหนึ่ง เกินกว่าที่กำหนดไว้ใน ข้อ 1 
- บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย 
- กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร 
- ผู้ประกอบกิจการธนาคาร เงินทุนหลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย 
- ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 
ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ทางการบัญชี หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี 
และผู้ทำบัญชีต้องเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกรอบ 3 ปี จากสถาบันวิชาชีพบัญชี หรือสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้าให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีฯประกาศกำหนด ตามประกาศกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี 
หลักเกณฑ์ ดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อกำหนดของกรมทะเบียนการค้าที่ครอบคลุมเฉพาะบริษัทหรือนิติบุคคล ไม่รวมถึงผู้ทำบัญชีของภาคราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 
ผู้ที่จะประกอบสมุห์บัญชี-Accountants-Generalควรเตรียมความพร้อมคือ : ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ปีที่6 สาขาวิทยาศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง วิทยฐานะสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะพาณิชย์ศาสตร์ และการบัญชี หรือ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันราชภัฎฯ หรือสถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย หลักสูตรการศึกษา 4 ปี 
สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศึกษาต่อ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาการบัญชี วิชาการบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชี ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันราชภัฎฯ หรือเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2ปี ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี และรับโอนหน่วยกิตของผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

โอกาสในการมีงานทำ
  ผู้ที่มีความสามารถในการเป็นสมุห์บัญชี สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบกิจการ สถาบันเอกชน หรือธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากการดำเนินธุรกิจเกือบทุกด้านจำเป็นที่จะต้องมีนักบัญชี และสมุห์บัญชีไว้เพื่อทำงานด้านบัญชี ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจได้เจริญก้าวหน้า และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าอาชีพสมุห์บัญชียังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในหน่วยงานของรัฐบาล เอกชน หรือธุรกิจส่วนตัว

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  ผู้ประกอบอาชีพสมุห์บัญชี สามารถที่จะประกอบอาชีพในสถานที่ต่างๆ ได้หลายแห่งทั้งที่เป็นหน่วยงานของราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้านต่างๆ และได้รับการเลื่อนขั้น ตำแหน่งไปได้จนถึงตำแหน่งหัวหน้าและหากมีวุฒิการศึกษา และมีความสามารถในการบริหารงานจะสามารถเลื่อนขั้นได้จนถึงระดับบริหารในหน่วยงานนั้น 
นอกจากนี้ยังสามารถที่จะรับงานบัญชีไปทำที่บ้านได้ และเมื่อทำงานจนมีความพร้อม และคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) กำหนดไว้ก็มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านบัญชีที่ต้องการความก้าวหน้าควรต้องหาประสบการณ์การทำงานให้มาก เพื่อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ รวมทั้งควรสนใจเข้าฝึกอบรมในสาขาอาชีพให้มากขึ้น 
โดยปกติพนักงานบัญชีจะต้องมีประสบการณ์ 4 - 5 ปีจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชี จากนั้นจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้จัดการ สำหรับผู้จัดการที่มีความสามารถ อาจจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงต่อไปซึ่งการเลื่อนขั้น และตำแหน่งจะอยู่ที่ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงาน

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  นอกจากจะทำงานในด้านบัญชีโดยตรงแล้วยังอาจจะไปทำงานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา เช่น ทำงานในหน้าที่ที่เกี่ยวกับงบประมาณ การเงิน งานธนาคาร บริษัทประกันภัย ประกอบอาชีพอิสระ โดยเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือเป็นอาจารย์สอนบัญชีในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  ข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล และเอกชนทุกแห่ง ที่ทำการเปิดสอนในสาขาบัญชีเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันราชภัฎ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยหอการค้า เป็นต้น กรมทะเบียนการค้า http://www.moc.go.th สถาบันราชภัฎ http://www.rajabhat.ac.th การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น