วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditor

ผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditor


นิยามอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditor ได้แก่ ผู้ให้บริการทางการบัญชี แก่สถานประกอบกิจการบุคคล สถาบันเอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาล รวมถึงการควบคุมดูแลการทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี การตรวจสอบ การรับรองความถูกต้อง และความครบถ้วนในการทำบัญชี และเอกสารทางการเงิน

ลักษณะของงานที่ทำ
  ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องครบถ้วนของจำนวนเงินที่บันทึกลงในสมุดบัญชี รวมทั้งเอกสารทางการเงินของสถานประกอบกิจการ สถาบันเอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาล
ตรวจรายการต่างๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดบัญชี เช่น บัญชีประจำวัน หรือบัญชีรายวัน เพื่อให้เชื่อแน่ว่าการบันทึกจำนวนเงินและรายการต่างๆ ลงในสมุดบัญชีเป็นไปโดยถูกต้อง
ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนรายการต่างๆ จากบัญชีรายวันไปลงบัญชีแยกประเภท นับเงินสด และตรวจสอบยอดเงินในธนาคาร
ตรวจสอบจำนวนเงินที่รับมา และจ่ายไปตลอดจนหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย
ตรวจดูเช็คเงินสด เพื่อสอบยอดเงิน ลายเซ็นต์การขีดฆ่า และวันที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีเงินสด
สอบรายการในบัญชีรายวัน และบัญชีแยกประเภทกับใบเสร็จจ่ายเงินสด ใบเสร็จซื้อของ และใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่าย
ตรวจสอบรายการสิ่งของ ตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงิน
อาจทำเอกสารทางการเงินให้แก่ลูกค้า เช่น เอกสารแสดงกำไรและขาดทุน และงบดุล
อาจเตรียมรายงานแสดงรายการต่างๆ โดยละเอียด เช่น ต้นทุน สินทรัพย์ หนี้สิน ปริมาณการขายกำไรสุทธิ และค่าเสื่อม
อาจควบคุมพนักงานบัญชีให้สอบบัญชีเป็นประจำ
อาจคิดค้น และวางระบบกับวิธีการบัญชีขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะสถานประกอบกิจการ ซึ่งไม่อาจนำระบบการบัญชีมาตรฐานมาใช้ได้

สภาพการจ้างงาน
  ผู้ประกอบผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditorที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงานผู้ตรวจสอบบัญชี เนื่องจากผู้ที่จะประกอบผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditorจะต้องมีประสบการณ์ในงานบัญชีมาบ้างจึงจะทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชี และผู้ที่ประกอบผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditorจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) กำหนดไว้มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้ดังนั้นค่าตอบแทนจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว

นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้วในภาครัฐจะได้รับสวัสดิการตามระเบียบของทางราชการ ส่วนในภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส ค่าล่วงเวลา เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditor มีชั่วโมงทำงาน โดยปกติวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40-48 ชั่วโมง อาจต้องทำงานล่วงเวลา เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนในการตรวจสอบบัญชีให้เสร็จตามกำหนดเวลา และอาจต้องทำงานในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และ วันหยุด เมื่อมีความจำเป็น

สภาพการทำงาน
  ผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานในสถานที่ทำงานที่มีสภาพการทำงานเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป ในการทำงานจะต้องใช้เครื่องคิดเลข หรืออาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ช่วยงานบันทึกรายการ และการทำบัญชีในรูปต่างๆ
ในการตรวจสอบบัญชีแต่ละครั้งจะต้องทำงานอยู่กับเอกสารทางบัญชี อาจจะต้องค้นสลิปรายการบัญชีที่สงสัย หรือมีปัญหา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจดูรายการที่น่าสงสัย หรือมีข้อผิดพลาด ผู้ตรวจสอบบัญชีจากบริษัทรับตรวจบัญชีที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีบริษัทลูกค้าบางรายอาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในห้องหรือบริเวณที่ลูกค้าจัดเตรียมไว้ให้ อาจจะต้องทำงานเป็นเวลา 1- 4 สัปดาห์ในบริษัทของ ลูกค้า ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของบริษัทนั้น บางครั้งต้องทำการตรวจสอบเอกสารทางบัญชี ซึ่งต้องตรวจเอกสารทำรายการบัญชีที่ผ่านมาในช่วง 1 ปี ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการตรวจสอบบัญชีผู้ตรวจสอบบัญชี จากบริษัทรับตรวจสอบบัญชีมักจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ เพื่อใช้ช่วย ในการทำงาน เช่น การบันทึกบัญชีลูกค้าเพื่อการตรวจสอบ ซึ่งอาจใช้โปรแกรมสำหรับการตรวจสอบ หรือการเขียนรายงานการตรวจสอบบัญชี

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditorต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ต้องมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางการบัญชี บริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชี หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
- เมื่อทำงานจนมีความพร้อม และคุณสมบัติตามที่ กบช. กำหนดไว้ก็มีสิทธิที่จะสอบเป็น ผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตได้
- มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับการเงิน
- มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประโยชน์อย่างแท้จริงในการตัดสินใจ
- มีความรอบคอบ วิจารณญาณ เพื่อพิจารณาหาหลักปฏิบัติที่เหมาะสม และส่งผลกระทบในด้านลบให้น้อยที่สุดแก่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
- รับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง และให้ความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพ และสังคม
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ในด้านโปรแกรมระบบงานบัญชี
- มีความรู้ภาษาอังกฤษตามสมควร มีความรู้ระบบภาษีของไทย
ผู้ที่จะประกอบอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6สาขาวิทยาศาสตร์หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ และสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีหรือคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันราชภัฎฯ หรือสถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย หลักสูตรการศึกษา 4 ปี หรือ
สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาการบัญชี วิชาการบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชีในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันราชภัฎฯ และศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี และรับโอนหน่วยกิตของ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปวส. เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี
สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาบัญชี ที่ต้องการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องฝึกงานเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ และมีเวลาฝึกหัดงานไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง โดยต้องแจ้งการฝึกหัดงานสอบบัญชี ต่อสำนักงาน กบช. ก่อน เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกำหนดของ ก.บช.สามารถเข้ารับการทดสอบเมื่อผ่านการทดสอบก็จะได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ ก.บช.
ผู้ที่มีความสามารถในการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงาน ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบกิจการ สถาบันเอกชน หรือการประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากการดำเนินธุรกิจเกือบทุกด้านจำเป็นต้องมีการตรวจสอบบัญชีขององค์กร เพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นแรกอาจจะเป็นผู้ทำบัญชี หรือพนักงานตรวจสอบภายใน และเลื่อนขั้นมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน และสามารถสอบผ่านตามกฎเกณฑ์ของ ก.บช. ก็จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สามารถลงนามรับรองการตรวจบัญชีของหน่วยงานได้

โอกาสในการมีงานทำ
  ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจได้เจริญก้าวหน้าและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน หรือแม้แต่การประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือบางองค์กร เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทย ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน ซึ่งจะต้องมีผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อทำการตรวจสอบงานบัญชี และการเงินของธนาคารสาขาและในสำนักงานใหญ่ โดยทำการตรวจสอบภายใน รวมทั้งบัญชีตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
ถึงแม้ว่าหน่วยงานบางแห่งจะไม่มีการจ้างงานตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชี แต่ในแต่ละปีหน่วยงานนั้นต้องจ้างบริษัทรับตรวจสอบบัญชีเข้ามาทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัททุกปี เนื่องจากต้องจัดทำงบดุล และเสียภาษีนิติบุคคลผู้ตรวจสอบบัญชียังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่มาก
สำหรับผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตในการตรวจสอบบัญชีตามคุณสมบัติตามที่ ก.บช. กำหนดไว้ เป็นผู้ที่สามารถลงนามรับรองงานตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานต่างๆ ได้จะยิ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาด แรงงานมาก เนื่องจากต้องเป็นผู้มีประสบการณ์มาก และมีความสามารถจึงได้รับอนุญาตจาก ก.บช. ซึ่งจะต้องรักษาสถานภาพนี้ไว้ เพราะหากลงนามรับรองการตรวจสอบบัญชีผิดพลาดหรือทุจริต และถูกตรวจพบก็จะถูกลงโทษและถูกตัดสิทธิ์การเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ ก.บช.ทำให้หมดโอกาสในการประกอบผู้ตรวจสอบบัญชี-Auditor

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  ผู้ประกอบอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถประกอบอาชีพในสถานที่ต่างๆ ได้หลายแห่ง ทั้งที่เป็นหน่วยงานของราชการ รัฐวิสาหกิจเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ และได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งไปได้จนถึงตำแหน่งหัวหน้า และหากมีวุฒิการศึกษา และมีความสามารถในการบริหารงาน จะสามารถเลื่อนขั้นได้จนถึงระดับบริหารในหน่วยงานนั้น
เมื่อทำงานจนมีความสามารถ และคุณสมบัติตามที่ ก.บช. กำหนดไว้ก็มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้ ก็สามารถที่จะรับตรวจสอบบัญชีให้หน่วยงานทั่วไปได้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  นอกจากจะทำงานในด้านบัญชีโดยตรงแล้ว ยังอาจทำงานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา เช่นเป็นเจ้าหน้าที่งบประมาณ การเงิน ธนาคาร ประกันภัย หรือเป็นอาจารย์สอนบัญชีในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  ข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล และเอกชน ทุกแห่งที่ทำการเปิดสอนในสาขาบัญชี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฎ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจ-บัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัย หอการค้า เป็นต้น กรมทะเบียนการค้าhttp://www.moc.go.th สถาบันราชภัฎ http://www.rajabhat.ac.th การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น