วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พนักงานบัญชี Accountants

พนักงานบัญชี-Accountants


นิยามอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานพนักงานบัญชี-Accountants ทำงานเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมรายการรายรับ และรายจ่ายของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดทำเป็นรายงานตามระบบ และระเบียบของการทำบัญชี จัดทำบัญชีด้วยตนเองหรือร่วมทำงานกับผู้อื่น กำกับดูแลการทำงานบัญชีของเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบความถูกต้อง และนำเสนอผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามลำดับ อาจทำงบดุลประจำปี อาจทำหน้าที่ในการรับ และการจ่ายเงินตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะของงานที่ทำ
  พนักงานบัญชี ทำงานบันทึกข้อมูลการเงินขององค์การอย่างสมบูรณ์ตามระบบของการบัญชี และเป็นระเบียบแบบแผน เช่น บัญชีรายรับ หรือบัญชีรายจ่าย เป็นต้น ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และบันทึกเกี่ยวกับการจ่ายเงิน การรับเงินและธุรกิจการเงินอื่นๆ และลงบัญชีแยกประเภทตรวจสอบการลงบัญชี ทำการคำนวณ และรวมยอดเงินเท่าที่จำเป็น 
ทำงบดุล และรวบรวมรายงานการเงินตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นประจำ เพื่อแสดงรายรับรายจ่าย บัญชีรายรับและรายจ่าย กำไรหรือขาดทุน และเรื่องราวเกี่ยวกับการเงินอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กำลังดำเนินงานอยู่ คำนวณและจ่ายเงินค่าจ้าง ทำรายงานแสดงฐานะทางการเงิน ทำรายงานแสดงฐานะทางการบัญชีให้แก่ลูกค้า และปฏิบัติงานต่างๆ เกี่ยวกับการทำบัญชีทำบันทึกการเงินโดยใช้ เครื่องทำบัญชี ตรวจสอบการลงบัญชี ี้ 
รวบรวมรายงานเสนอตามระยะที่กำหนดเป็นประจำ ปิดงบการเงินประจำเดือน ทำหน้าที่ให้บริการทางการบัญชีแก่สถานประกอบการธุรกิจ บุคคล สถาบันเอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาล รวมถึงการควบคุมดูแลการทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี การตรวจสอบ การรับรองความถูกต้อง และความครบถ้วนในการทำบัญชีและเอกสารทางการเงิน ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่าย จัดเตรียมงบทดลอง บันทึกรายการรับจ่ายประจำวัน 
จัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มซื้อ และขายพร้อมทั้งเอกสารประกอบเพื่อนำเสนอกรมสรรพากร ทุกเดือน จัดทำรายงานภาษีเงินได้ของบริษัทเพื่อนำเสนอกรมสรรพากรทุกสิ้นปี

สภาพการจ้างงาน
  ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ จะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ส่วนในภาคเอกชน จะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงานพนักงานบัญชี ซึ่งไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว 

สภาพการทำงาน
  พนักงานบัญชีทำงานในสถานที่ทำงานที่มีสภาพการทำงานเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป ในการทำงานจะต้องใช้เครื่องคิดเลขหรืออาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ช่วยงานบันทึกรายการ และการทำบัญชีในรูปต่างๆ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบพนักงานบัญชี-Accountantsต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
- ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางการบัญชี บริหารธุรกิจ หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยรับรอง 
- มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับการเงิน 
- มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ถูกต้องรวดเร็ว และ มีประโยชน์อย่างแท้จริงในการตัดสินใจ - มีความรอบคอบ วิจารณญาณ เพื่อพิจารณาหาหลักปฏิบัติที่เหมาะสม และส่งผลกระทบ ในด้านลบให้น้อยที่สุดแก่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง 
- รับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง และให้ความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพ และสังคม 
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ในด้านโปรแกรม software บัญชี มีความรู้ภาษาอังกฤษ ตามสมควร มีความรู้ระบบภาษีของไทย 
ผู้ที่จะประกอบพนักงานบัญชี-Accountantsควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางการบัญชี บริหารธุรกิจหรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย และสำหรับพนักงานบัญชี ที่ทำหน้าที่ผู้ทำบัญชีในสถานประกอบการที่จดทะเบียนการค้า ต้องเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกรอบ 3 ปี จากสถาบันวิชาชีพบัญชีหรือสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้าให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีฯประกาศกำหนด

โอกาสในการมีงานทำ
  ในการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องมีพนักงานบัญชีทำงานด้านบัญชี ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจได้เจริญก้าวหน้าและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า อาชีพพนักงานบัญชียัง คงเป็นที่ต้องการทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือธุรกิจส่วนตัว 
ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านบัญชีสามารถที่จะประกอบอาชีพในหน่วยงานต่างๆ ได้หลายแห่งทั้งที่เป็นหน่วยงานของราชการ และเอกชน นอกจากนี้ยังสามารถที่จะรับงานบัญชีไปทำที่บ้านได้ และเมื่อพนักงานบัญชีทำงานจนมีความพร้อมและมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (กบช.) กำหนดไว้ก็มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  พนักงานบัญชีที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับงานบัญชี และมีประสบการณ์สามารถที่จะสอบเป็น ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต สามารถที่จะรับงานตรวจสอบบัญชีเป็นอาชีพอิสสระได้ หรือพนักงานบัญชีที่มีความสามารถในงานบริหารจัดการ สามารถที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ทำบัญชี สมุห์บัญชี ผู้ตรวจสอบภายในองค์กรนั้นได้

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  นอกจากจะทำงานในด้านบัญชีโดยตรงแล้ว พนักงานบัญชียังอาจทำงานอย่างอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา เช่น ทำงานในหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณการเงิน งานธนาคาร บริษัทประกันภัย ประกอบอาชีพอิสระโดยเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต หรือเป็นอาจารย์สอนบัญชีในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆสำหรับผู้ที่ศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมามาก เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  ข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล และเอกชนทุกแห่งที่ทำการเปิดสอนในสาขาบัญชี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฎ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยหอการค้า เป็นต้น กรมทะเบียนการค้า http://www.moc.go.th สถาบันราชภัฎ http://www.rajabhat.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น