วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา Property-assessor-Appraiser

ผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา
Property-assessor-Appraiser


นิยามอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา-Property-assessor-Appraiser ได้แก่ผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือสินค้าเพื่อขายทอดตลาด หรือเพื่อการรับรอง ในการขออนุมัติสินเชื่อ หรือเพื่อกิจการอื่นๆ ที่ต้องการให้มีการตีราคา หรือประเมินทรัพย์สินหรือสินค้ารวมถึงการขายทอดตลาดทรัพย์สินประเภทต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เกษตร และศิลปะวัตถุต่างๆกำหนดมูลค่าเป็นตัวเงินของทรัพย์สิน สินค้า สินทรัพย์ทางธุรกิจ และสิ่งของต่างๆ

ลักษณะของงานที่ทำ
  พิจารณากำหนดมูลค่าที่เป็นตัวเงินของอสังหาริมทรัพย์ สินค้า สินทรัพย์ทางธุรกิจ และสิ่งของต่างๆ เช่นศิลปะวัตถุ เพชรพลอย รถยนต์ และทรัพย์สินส่วนบุคคลกับสิ่งของที่ใช้ในครัวเรือน โดยการตรวจดูสภาพและความเชื่อถือได้ 
ใช้ความรู้ ประสบการณ์การทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และมูลค่าที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก ในการตรวจตราและตรวจดูสิ่งของ เพื่อช่วยในการประมาณมูลค่าของสิ่งของ 
เสนอราคาของที่ประมาณแล้วให้ผู้ซื้อ ผู้ขายทอดตลาด ผู้ให้สินเชื่อ ศาล ทนายความ หรือบริษัท ประกันภัยทราบ 
แสดงความเห็นเกี่ยวกับมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอน และวิธีการประเมินที่เหมาะสม เพื่อประมาณการราคาของสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันที่ควรจะสามารถซื้อขายได้ในตลาดโดยเปิดเผย และได้พิจารณาถึงลักษณะของสินทรัพย์และสภาวะตลาดแล้ว ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าจะต้องจัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร 
อาจชำนาญในการตีราคาของเฉพาะอย่าง อาจปฏิบัติงานในกรมศุลกากรเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรจากมูลค่าที่เป็นตัวเงินของสิ่งของ

สภาพการจ้างงาน
  ผู้ประกอบผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา-Property-assessor-Appraiser สามารถทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยในภาครัฐเข้าทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงิน กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ กรมที่ดิน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แก่ กรมประชาสงเคราะห์ เป็นต้น ในภาคเอกชนสามารถทำงานในสถาบันการเงิน โดยเป็นผู้ประเมินราคาภายในสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้ประเมินราคาอิสระของบริษัทที่รับทำการประเมินหลักทรัพย์ทั่วไป 
สำหรับรายได้จากการทำงาน ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน โดยมีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทขึ้นไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความสามารถของแต่ละบุคคลนับได้ว่าเป็นอาชีพที่ให้ ค่าตอบแทนการทำงานดีอาชีพหนึ่ง ส่วนรายได้ของภาครัฐจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 
ระยะเวลาการปฏิบัติงาน สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จทันต่อการใช้งาน 
นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้ว ในภาครัฐจะได้รับสวัสดิการตามระเบียบของทางราชการ ส่วนในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น

สภาพการทำงาน
  สถานที่ทำงานของผู้ประเมินทรัพย์สิน มีสภาพเหมือนที่ทำงานทั่วไป คือเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สำนักงานทั่วไปอาจจะต้องมีคอมพิวเตอร์ใช้ช่วยในการทำงานเอกสาร การเก็บข้อมูล การค้นคว้าข้อมูลราคาที่ดิน และทรัพย์สิน บางหน่วยงานนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาช่วยในการเก็บข้อมูลสำหรับช่วยในการค้นหาข้อมูลในเบื้องต้น บางแห่งอาจจะใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการค้นคว้าข้อมูลราคา 
สำหรับพนักงานตีราคาในสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ ที่ทำงานในสถานธนานุเคราะห์ จะทำงานหน้าเคาน์เตอร์เพื่อพิจารณาทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ลูกค้านำมาจำนำ 
โดยลักษณะงานที่จะต้องทำการสำรวจ เพื่อการประเมินทรัพย์สินจึงจำเป็นต้องทำงานนอกสถานที่ เนื่องจากต้องสำรวจหลักทรัพย์ในสถานที่จริง เพื่อสามารถทำการประเมินราคาทรัพย์สินได้อย่างมี ประสิทธิภาพสูงสุด

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา-Property-assessor-Appraiser ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ การศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี แต่บางงานที่ต้องการความชำนาญพิเศษ อาจไม่จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 
1. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย 
2. มีความอดทน สามารถเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการประเมินราคา ซึ่งอาจจะเป็น ทุ่งนา ตึกรกร้าง หรืออาคารที่พักอาศัยทั่วไป 
3. มีความช่างสังเกต และรอบคอบในการตรวจสอบ สำรวจทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ 
4. มีความรอบรู้ สนใจในข่าวสารต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบอาชีพ 
5. มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ 
ผู้ที่จะประกอบอาชีพประเมินทรัพย์สินควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : ควรเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และอาจจะเริ่มต้นการทำงานโดยการเป็นผู้ช่วยผู้ประเมินทรัพย์สิน หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อ เมื่อมีประสบการณ์หรือได้รับการอบรมในหลักสูตรการประเมินทรัพย์สิน ก็สามารถที่จะเลื่อนขั้นตำแหน่งเป็นผู้ประเมินทรัพย์สิน 
หลักสูตรในการประเมินทรัพย์สิน จะมีการเปิดอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น ผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรการประเมินทรัพย์สิน สถาบันที่เปิดให้การอบรมหลักสูตรดังกล่าวนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในบางโอกาสตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันต่างๆ จัดหลักสูตรการประเมินทรัพย์สินขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรมเช่นกัน

โอกาสในการมีงานทำ
  ในกลุ่มผู้ประเมินทรัพย์สินทางด้านสถาบันการเงินนั้น เนื่องจากมีระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดไว้ว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องประเมินหลักทรัพย์ทุก 3 เดือน รวมทั้งในการขอกู้สินเชื่อสถาบันการเงินทั่วไป มีเกณฑ์การเลือกใช้การประเมินราคา หรือตีราคาตามขนาดของราคาตามรายการบัญชีของลูกหนี้ ต้องมีการประเมินทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกัน ผู้ประเมินราคาอาจจะเป็นผู้ประเมินราคาภายในของสถาบันการเงิน หรือผู้ประเมินราคาอิสระที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นผู้ประเมินราคาเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ และไม่เป็นผู้ที่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศยกเลิกรายชื่อที่ธนาคารเห็นชอบให้เป็นผู้ชำนาญการประเมินราคาทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเศรษฐกิจอย่างไร ความต้องการผู้ประเมินทรัพย์สินยังคงมีอยู่ไม่ว่างานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน หรือในภาคเอกชนโดยเฉพาะสถาบันการเงิน

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  ผู้ประกอบผู้ประเมินทรัพย์สิน-พนักงานตีราคา-ผู้ประเมินราคา-Property-assessor-Appraiser นอกจากรับราชการในภาครัฐ หรือทำงานในหน่วยงานภาคเอกชนจะได้รับการ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งตามความสามารถ และประสบการณ์ และอาจได้รับเลื่อน ถึงตำแหน่งสูงสุดใน สายงานสำหรับผู้ที่มีเงินทุน และชอบงานอิสระ สามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้ โดยการเปิดบริษัท รับประเมินทรัพย์สิน

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  ทนายความ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ นักการธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ สถาปนิก นักวางผังเมือง วิศวกร

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย http: // www.dol.go.th หรือ http:// www.moi.go.th ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย http://www.set.or.th มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ www.tu.ac.th จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย www.cu.ac.th ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น