เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ
Quality-Control-Officer-Quality-Control-Inspector
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพ นี้ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้า และบริหารของสถานประกอบการ โดยตรวจสอบทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานที่กำหนดโดยลูกค้า หรือทางราชการหรือตามมาตรฐานทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และน่าเชื่อถือต่อลูกค้าทั้งในประเทศ และนานาชาติ และเพื่อลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ประสิทธิภาพ การผลิตเพิ่มขึ้น
ลักษณะของงานที่ทำ
ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพ นี้มีหน้าที่ตรวจสอบ (Detection) และดูแลกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้การผลิตผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการเกิดความผิดพลาด และไม่ได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการตามที่ลูกค้าต้องการหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสียหายมากเกินความจำเป็น บันทึกการตรวจสอบ และผลการผลิตรายงานส่งผู้บริหาร (Quality Management Representative: QMR) โดยเน้นการทำงาน ไปที่การตรวจสอบ ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งแตกต่างจาก กระบวนการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) ที่เน้นระบบการจัดการป้องกัน (Prevention ) ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพมี ดังนี้
1. ปฏิบัติงานตามคู่มือระบบคุณภาพ และมีขั้นตอนการทำงานตามโครงสร้างของระบบอย่างเคร่งครัด
2. ตรวจทบทวนความต้องการของลูกค้า และจดบันทึกตั้งแต่เริ่มติดต่อก่อนที่จะมีคำสั่งซื้อและความเข้าใจของบุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์กร
3. ตรวจสอบขั้นตอนของการควบคุมการบันทึกคุณภาพให้ครบถ้วน ชัดเจน มีวิธีการ จัดเก็บ และทำดัชนีการจัดเก็บ(ที่เข้าถึง)การรักษา และการทำลาย
4. ตรวจสอบการควบคุมเอกสาร และข้อมูลทั้งจากภายใน และภายนอกองค์กรทั้งหมดให้อยู่ในระบบคุณภาพทุกหน่วยงาน มีบัญชีแสดงสถานะของเอกสาร นำเอกสารที่ไม่ใช้แล้วออกนอกพื้นที่ใช้งาน คงไว้ซึ่งเอกสารปัจจุบันที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน
5. ตรวจสอบการแสดงชี้บ่ง และการสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์ เพื่อค้นหาแหล่ง ข้อบกพร่อง และติดตามการผลิต
6. ตรวจสอบการควบคุมกระบวนการผลิต การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ และการบริการต้องอยู่ภายใต้ภาวะควบคุม นับตั้งแต่การรับวัตถุดิบมาทำการผลิต และระหว่างทำการผลิตจนถึงสิ้นสุดกระบวนการผลิต ในการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจหน้าที่
7. ตรวจ ทดสอบ และจดบันทึกตั้งแต่การตรวจรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแล้ว จนกระทั่งส่งมอบอย่างละเอียด และเรียกกลับทันที่ที่มีข้อบกพร่องก่อนถึงมือลูกค้า ต้องบันทึกผลการตรวจสอบว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
8. ตรวจสอบเครื่องตรวจ เครื่องวัด และเครื่องทดสอบให้ใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ ตลอดจนขั้นตอนการบำรุงรักษา กำหนดผลการสอบเทียบ
9. ต้องรู้สถานการณ์การตรวจ และการทดสอบของผลิตภัณฑ์ทุกขั้นตอน พิจารณา ผลทดสอบเป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน โดยทำเครื่องหมายติดป้ายแยกเก็บต่างหากจากกัน
10. ตรวจสอบการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำ ผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องไปใช้งานโดยไม่ตั้งใจ ดำเนินการจัดการทำลาย ลดเกรด นำกลับไปทำใหม่แล้วตรวจซ้ำ
11. ตรวจสอบบันทึก และปฏิบัติการแก้ไข และป้องกันข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิต หรือการบริการ จากผลการประเมินข้อร้องเรียนจากลูกค้าข้อคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ผลการทบทวนของฝ่ายจัดการ เป็นต้น
12. ควบคุมบันทึกการเคลื่อนย้าย การเก็บ การบรรจุ การเก็บรักษา และการส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ
13. ตรวจติดตามคุณภาพภายในองค์กร
14. จัดการฝึกอบรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงขั้นตอน และกระบวนการทำงานระบบคุณภาพ
15. บันทึกกลวิธีทางสถิติในการรวบรวมวิเคราะห์หาแนวโน้มของข้อบกพร่องต่างๆ และทำการป้องกันข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้
สภาพการจ้างงาน
สำหรับผู้เริ่มต้นงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ ซึ่งมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำประโยควิชาชีพชั้นสูงหรือปริญญาตรี จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานประมาณเดือนละ 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องมียานพาหนะของตนเอง และสามารถเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดได้
ส่วนผู้มีประสบการณ์ 1-2 ปี พร้อมมีความรู้ระบบคุณภาพมาตรฐานของ ISO 9000 ระบบใดระบบหนึ่งจะได้รับเงินเดือนประมาณเดือนละ 20,000 บาท
ผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ-Quality-Control-Officer-Quality-Control-Inspectorจะต้องทำงานตลอดเวลาที่ทำการผลิต ซึ่งอาจต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด หรืออาจต้องทำงานตามกะด้วย เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ทุกขั้นตอนเวลาทำงานโดยปกติ 7 ถึง 8 หรือ 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจต้องทำงานล่วงเวลา
สภาพการทำงาน
สถานที่ผู้ปฏิบัติงานนี้ ขึ้นอยู่กับธุรกิจอุตสาหกรรมและประเภทงานที่จัดทำระบบ คุณภาพ ถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น ภัตตาคาร โรงแรม การท่องเที่ยวสนามบิน โรงพยาบาล และคลีนิค กลุ่มสาธารณูปโภคต่างๆ ถ้าเป็นประเภทงาน ได้แก่ งานซ่อมบำรุงเครื่องจักร การจัดจำหน่าย การสำรวจ การออกแบบวิจัยทาง วิทยาศาสตร์ การฝึกอบรม ที่ปรึกษาบุคลากร และบริการในสำนักงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดีการทำงาน ในหน้าที่ผู้ทำงานจะต้องทำงานในสำนักงานในโรงงาน และปฏิบัติในพื้นที่หรือท้องที่นอกสำนักงาน เพื่อดำเนินการตรวจระบบคุณภาพ แม้กระทั่งไปตรวจดูสินค้า ณ.ที่ขาย
ถ้าในสถานที่มีความเสี่ยงในการปลอดภัยอาจต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลตลอดเวลา
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ-Quality-Control-Officer-Quality-Control-Inspector ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีวุฒิการศึกษาระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง ปริญญาตรี ห รือปริญญาโทสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานการผลิตหรือบริการของสถานประกอบกิจการ
2. มีสุขภาพแข็งแรง มีความอดทน สามารถเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด หรือต่างประเทศได้
3. มีความรู้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี
4. เป็นคนละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต มีไหวพริบ มีความรับผิดชอบสูง และมีระเบียบวินัยเคร่งครัด
5. มีมนุษยสัมพันธ์ดี และมีการถ่ายทอดสื่อสารที่ชัดเจน
6. มีลักษณะเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี
7. เป็นผู้สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับปรุงความรู้ที่มีอยู่เสมอเพื่อให้สามารถก้าวทัน ความเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตสินค้า และบริการ
ผู้ที่จะประกอบเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ-Quality-Control-Officer-Quality-Control-Inspector ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และฝึกอบรมเกี่ยวกับกำหนดมาตรฐาน ISO 9000 series 5 ระบบหลักคือ
ISO 9000 เป็นแนวทางในการเลือกและกรอบการเลือกและการใช้ มาตรฐานระบบคุณภาพต่างๆ ให้เหมาะสม
ISO 9001 มาตรฐานระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลทั้งการออกแบบ และพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และบริการ
ISO 9002 ระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลเฉพาะการผลิต การติดตั้ง และการบริการ
ISO9003 ระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลเรื่องการตรวจ และการทดสอบขั้นสุดท้าย
ISO9004 ระบบแนวทางการบริหารงานเพื่อคุณภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โอกาสในการมีงานทำ
ปัจจุบัน กระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขั้นสูง และการเปิดการค้าเสรีมีผลกระทบต่อทุกประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม สถานประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการประกอบการธุรกิจไม่ใช่แค่เพียงความอยู่รอดเท่านั้น แต่ต้องสามารถแข่งขันการบริการ และการผลิตผลิตภัณฑ์ได้ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ การลดต้นทุนสินค้า รักษาคุณภาพของสินค้า และการบริการที่ได้มาตรฐาน คือ ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทางการค้าที่เข้มงวด ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องใช้ระบบพัฒนาคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับเดียวกันทั่วโลกคือ "อนุกรมมาตรฐาน มอก. ISO-9000" โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ที่ได้ร่วมมือกับองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศ (International Organization for Standardization :ISO)
ดังนั้น องค์กรธุรกิจ และสถานประกอบกิจการทุกองค์กร จึงต้องมีการปรับองค์กรเพื่อขอนำระบบ คุณภาพดังกล่าวมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้า และบริการ ประหยัดเวลา และไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพซ้ำได้รับการคุ้มครองคุณภาพ และได้รับการรับรองโดย สมอ. ทุกองค์กรจึงมีความจำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และควบคุมขั้นตอนการทำงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังกล่าว ทำให้ตลาดแรงงานทางด้านนี้เปิดโอกาสให้ผู้มีการศึกษาหลากหลายสาขาวิชาได้ มีงานทำเป็นอาชีพค่อนข้างมั่นคงสำหรับผู้ขยัน และมีความสามารถ
ในกรณีที่สถานประกอบกิจการมีขนาดใหญ่อาจต้องการเจ้าหน้าที่ ควบคุมคุณภาพหลายระดับ และมากกว่า 1 คน และคุณสมบัติในการประกอบอาชีพนั้นรับผู้จบการศึกษาหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องตามประเภทของธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้สำเร็จการศึกษาประโยควิชาชีพ หรือประโยควิชาชีพชั้นสูงสาขาเทคนิคอุตสาหกรรม หรือปริญญาตรี จนถึงปริญญาโททางฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ สถิติ เช่น บริษัทที่ผลิตยา และอาหาร อาจต้องการผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เคมี บริหารการผลิต และเทคโนโลยีทางอาหาร ถ้าเป็นบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติคก็จะรับผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรม หรือวิศวอุตสาหการ เป็นต้น
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ-Quality-Control-Officer-Quality-Control-Inspector อาจได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และขั้นเงินเดือนตามสายงาน เมื่อปฏิบัติงานได้ 2-3 ปีอาจได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ ( QC. Supervisor)ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพ (QC. Assistant Manager) ผู้จัดการควบคุมคุณภาพ (QC. Manager) หัวหน้าฝ่ายควบคุมคุณภาพ ( Head of QC. Department ) และเป็นผู้บริหารระบบคุณภาพ ( QMR.) ตามลำดับ
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการของธุรกิจการบริการฝ่ายคลังสินค้า และฝ่ายส่งสินค้าหัวหน้างานประกันคุณภาพ (Chief of Quality Assurance) ผู้ประสานงานฝ่ายควบคุมคุณภาพ (Co-ordinator , Quality Control )
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ในส่วนจัดหางาน เว็บไซต์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม http://www.doe.go.th การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น