ทันตแพทย์-Dentist-general
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานทันตแพทย์-Dentist-general ได้แก่ผู้ให้การรักษาโรคและความผิดปกติของฟันและช่องปากด้วยการศัลยกรรม ให้ยา และวิธีการอื่นๆ ควบคุมโรคในช่องปากของผู้ป่วย และควบคุมบริการทันตสุขภาพ รวมถึงการตรวจฟันและปากของผู้ป่วย และใส่ฟันปลอม ร่วมในการวางแผน จัดระบบงาน และดำเนินงานให้เป็นไปตาม โครงการทันตสุขภาพของหน่วยงานสาธารณสุข
ลักษณะของงานที่ทำ
ให้การรักษาโรค และความผิดปกติของฟันและช่องปากด้วยการศัลยกรรม ให้ยา และวิธีการอื่นๆ ตรวจปากและฟันของผู้ป่วย ใช้เครื่องเอ็กซเรย์และทดสอบตามความจำเป็น เพื่อจะได้ทราบถึงลักษณะของความผิดปกติ พิจารณาผลของการตรวจและการทดสอบ และตกลงใจเลือกวิธีการรักษา หารูฟันผุ ทำความสะอาดและอุดรูฟันผุ และถอนฟันที่เป็นโรคหรือไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ พิมพ์ปากและจำลองแบบของเหงือก และส่วนอื่นๆ ของปาก เพื่อใช้ในการประดิษฐ์ฟันปลอม และใส่ฟันปลอม ใส่เครื่องยึดเพื่อจัดฟันที่มีลักษณะผิดปกติ หรือเกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง รักษาโรคฟัน ปากหรือเหงือกด้วยการใช้ยาหรือศัลยกรรม ให้ยาชาหรือวางยาสลบตามความจำเป็น อาจทำเฉพาะทางในการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า
สภาพการจ้างงาน
ทันตแพทย์สามารถทำงานในภาครัฐ และภาคเอกชนโดยประกอบอาชีพตามสถานบริการทันตกรรม โรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว
ทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนเทียบเท่าวุฒิปริญญาตรีทั่วไป อัตราค่าจ้างเป็นรายเดือนแตกต่างกันไปตามความรู้ และความชำนาญ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ ไม่มีประสบการณ์จะมีรายได้โดยประมาณ ดังนี้
ประเภทองค์กร เงินเดือน
ราชการ 6,360
เอกชน 12,000 - 15,000
ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด อาจจะต้องมี การจัดเวรอยู่ประจำโรงพยาบาล นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้ว ผู้ทำงานกับภาครัฐจะได้รับ สวัสดิการตามระเบียบของทางราชการ ส่วนผู้ที่ทำงานในภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นมากกว่าภาคราชการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือ สวัสดิการในรูปต่างๆ เงินประกันสังคม เงินโบนัส เป็นต้น สำหรับผู้ที่สำเร็จทันตแพทย์ที่มีเงินทุนสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวด้วยการเปิดคลีนิครักษาฟัน มีรายได้ขึ้นอยู่กับความสามารถ และความอุตสาหะ
สภาพการทำงาน
ทันตแพทย์ทั่วไปจะทำงานในห้องตรวจฟันซึ่งมีอุปกรณ์ในการตรวจ และรักษาฟัน เช่น เครื่องมือต่างๆ เพื่อการขูดหินปูน ถอนฟัน ฉีดยาชา และเก้าอี้สำหรับผู้ป่วย และทันตแพทย์ โดยจะต้องมี ไฟส่องสว่างเพื่อช่วยในการตรวจฟันในปาก โดยทั่วไปทันตแพทย์จะมีผู้ช่วยทันตแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วยโดยจะช่วยในการหยิบส่งอุปกรณ์ในการตรวจรักษาฟัน ในบางครั้งอาจจะมีผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ซึ่งการตรวจรักษาอาจจะยุ่งยากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กจะมีความกลัวและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจฟัน ทันตแพทย์ต้องมีจิตวิทยาในการหลอกล่อเด็กให้ความร่วมมือโดยการอ้าปาก เพื่อทำการตรวจรักษา รวมทั้งต้องระวังการถูกกัดนิ้วมือขณะทำการตรวจรักษาให้เด็กที่กำลังกลัวและโกรธ
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางทันตแพทย์
2. มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
3. มีความรู้ในการค้นและการประดิษฐ์
4. มีสุขภาพแข็งแรง บุคลิกดี รู้หลักจิตวิทยา คล่องแคล่ว พูดจาเก่ง
5. มีฐานะทางการเงินดีพอสมควร
6. มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตน มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ ไม่ใช้ความรู้ทางวิชาการของตนไปหลอกลวงหรือทำลายผู้อื่น
ผู้สนใจประกอบอาชีพทันตแพทย์ต้องเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ : เมื่อสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า และสามารถสอบผ่านวิชาต่างๆ ในการ คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการสอบสัมภาษณ์และการตรวจร่างกาย หลักสูตรวิชาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีตามปกติใช้เวลาเรียน 5 ปี โดยมีสถาบันที่เปิดสอนวิชาการแพทย์ระดับปริญญาหลายแห่งในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น เมื่อครบหลักสูตรแล้วจะได้รับใบอนุญาตประกอบเวชกรรมของแพทยสภา มีสิทธิประกอบอาชีพแพทย์ได้ ตามกฎหมาย
โอกาสในการมีงานทำ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางทันตแพทย์หากมีความขยันอุตสาหะจะไม่มีการตกงาน เนื่องจาก นอกเหนือจากการเข้าทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบาลหรือเอกชนแล้ว ยังสามารถประกอบอาชีพส่วนตัวด้วยการเปิดคลีนิครักษาโรคฟันได้ ซึ่งการรักษาฟันรวมถึงการทำศัลยกรรมฟัน เช่น ทำเขี้ยว และอื่นๆ กำลังเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปกันมากขึ้น
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้สำเร็จการศึกษาจะต้องใช้ทุนให้กับรัฐบาลในสายงานที่เรียนมา โดยประจำอยู่ในโรงพยาบาล ของรัฐ หรือสถานพยาบาล ศูนย์อนามัยของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 2 ปี เมื่อใช้ทุนแล้วจะทำงานประจำต่อในหน่วยงานของรัฐ หรืออาจจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก หรือเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือประกอบอาชีพอิสระโดยตั้งคลีนิครักษาเป็นส่วนตัวและทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็ได้
ถ้ารับราชการต่อไปก็จะได้รับการเลื่อนขั้น และเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบของทางราชการ เช่น เป็นหัวหน้าภาควิชา เป็นต้น
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ผู้ชำนาญพิเศษทางทันตกรรม ทันตแพทย์ฝ่ายป้องกัน และสาธารณสุข ช่างเทคนิคการแพทย์ อาจารย์ทางวิชาทันตแพทย์ศาสตร์
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
ทันตแพทย์สมาคม ทันตแพทยสภา http://www.thaidental.org http:// www.thaitist.org การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น