วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นักหนังสือพิมพ์-Journalists

นักหนังสือพิมพ์-Journalists


นิยามอาชีพ
  ผู้ที่ปฏิบัตินักหนังสือพิมพ์-Journalists ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว หรือนักข่าวให้กับสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์รายวัน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ นิตยสารรายปักษ์ หรือนิตยสารรายเดือน

ลักษณะของงานที่ทำ
  ผู้ที่ปฏิบัติงานนี้นักหนังสือพิมพ์-Journalists ทำหน้าที่เหมือน ผู้สื่อข่าวทุกประการ คือเสาะแสวงหาข่าว ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ การถ่ายภาพ บันทึกเทป เข้าร่วมฟังการแถลงข่าว ซักถาม ตลอดจนค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมตามความจำเป็น จากแหล่งข่าวทั้งจาก บุคคลผู้เชี่ยวชาญ และข้อมูลทางด่วนข่าวสาร และห้องสมุด เพื่อให้เนื้อหาของข่าวชัดเจน ครอบคลุมข้อมูลทุกด้านในประเด็นที่เขียน หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้าข่าวหรือบรรณาธิการให้ตรงกับข้อเท็จจริง มีความเป็นกลาง มีสารประโยชน์ต่อผู้บริโภคข่าวสาร และทันเหตุการณ์จริง ซึ่งปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยทำให้นักหนังสือพิมพ์สามารถรายงานข่าว จากสถานที่เกิดเหตุการณ์จริงหรือพื้นที่อันห่างไกลจากต่างจังหวัด หรือต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตส่งถึง กองบรรณาธิการได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลซึ่งสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์พกพา และอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน นอกเหนือจากการส่งข่าวด้วยเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และวิทยุสื่อสาร 
นักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำข่าวสำคัญๆ จะได้รับอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสาร ที่ทันสมัยทุกชนิด เพื่อให้สามารถส่งข่าวให้ทันเวลาหรือเหตุการณ์ 
นักหนังสือพิมพ์ต้องปฏิบัติตนภายในกรอบของหน้าที่ ความรับผิดชอบ และจรรยาบรรณ นักหนังสือพิมพ์โดย ปฏิบัติงานดังนี้ 
1. หาข่าวและรายงานข่าวด้วยความซื่อตรงและสุภาพ ไม่ละเว้นการเสนอข้อเท็จจริงอันเป็นสาระประโยชน์และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยประการใดๆ 
2. ปฏิบัติการเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าว ภาพและเอกสารต่างๆด้วยวิธีการอันชอบธรรม 
3. แสดงตนเองว่าเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ก่อนสัมภาษณ์บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ด้วยความมุ่งหมาย ในการนำเรื่องนั้นมาตีพิมพ์ โฆษณา 
4. ส่งรายงานข่าวให้บรรณาธิการพิจารณาเพื่อพิมพ์เผยแพร่ต่อไป 
5. อาจต้องทำงานในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ หรือในสถานที่ที่มีอันตราย หรือมีความไม่ปลอดภัย

สภาพการจ้างงาน
  นักหนังสือพิมพ์ ที่มีความสามารถมีรายได้หรือเงินเดือน รวมทั้งค่ายานพาหนะเป็นค่าตอบแทน ค่อนข้างสูง นอกเหนือจากสวัสดิการ และโบนัสซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการขององค์กร และนโยบายธุรกิจของเจ้าของสื่อแต่ละองค์กร โดยทั่วไปนักหนังสือพิมพ์ที่มีวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี จะได้รับเงินเดือน ขั้นต้นประมาณ 8,500 -9,000 บาท โดยจะได้รับค่ายานพาหนะประจำเดือน อีกคนละ 3,000 - 4,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะค่าครองชีพในแต่ละปี ถ้ามีความสามารถในการถ่ายภาพด้วยจะได้รับค่าถ่ายภาพ หรือค่าเช่าซื้อลิขสิทธิ์ภาพในอัตราภาพละประมาณ 500 - 2,500 บาท หรืออาจสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับความสำคัญ ของภาพ หรือประเทศที่ต้องการซื้อภาพ

สภาพการทำงาน
  ธรรมชาติของการทำงานอาชีพนักหนังสือพิมพ์หรือผู้สื่อข่าวทั่วโลกจะเหมือนกันคือ ต้องพร้อมทำงานทันทีที่ได้รับมอบหมายงาน และต้องมีอุปกรณ์การทำงานที่จำเป็นพร้อมใช้งาน ได้ทันทีเช่นเดียวกัน ในบางครั้งต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีกำหนดเวลาในการส่งงานที่แน่นอน ของการปิดต้นฉบับข่าว ของแต่ละสายข่าวที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าข่าว หรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ 
ชั่วโมงการทำงานของผู้ปฏิบัติงานอาชีพนักหนังสือพิมพ์ จะผันแปรไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวัน อาจต้องทำงานในวันหยุด ต้องพยายามเสาะแสวงค้นคว้าหาข่าวในสถานที่ต่างๆ อาจใช้เวลาทำงาน แต่ละวันยาวนาน กว่าพนักงานที่ทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของการบริโภคของสาธารณชน อีกทั้งต้องช่วงชิงในการเสนอข่าว 
ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ข่าวเสร็จทันเวลาที่จะเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิกรและการพิมพ์ การทำงานจึงอยู่ภายใต้ความกดดัน ของเงื่อนไขธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทเช่น การขายพื้นที่โฆษณา การส่งทำฟิล์ม และทำเพลทการส่งเข้าแท่นพิมพ์ หรือโรงพิมพ์ การพับเข้าเล่มการจัดส่ง การออกวางตลาด รวมถึงความกดดันของสภาวการณ์ทำข่าว และจรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์ 
นักหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันไม่ต้องเข้ามาพิมพ์งานที่สำนักพิมพ์เช่นแต่ก่อน หลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือ แนวทางในการทำข่าวกับหัวหน้ากองบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าวแล้ว สามารถส่งข่าวผ่านอินเตอร์เน็ตหรืออิเล็กทรอนิคส์เมลเข้ากองบรรณาธิการได้ทันที เพื่อให้หัวหน้าข่าว หรือกองบรรณาธิการตรวจรับข่าว นับว่าเป็นการทำงานที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันนักหนังสือพิมพ์ก็ต้องมีลักษณะเป็นนายตนเอง รับผิดชอบต่อหน้าที่ และตรงต่อเวลา 
ผู้ที่ปฏิบัติงานนักหนังสือพิมพ์-Journalistsมีความเสี่ยงสูง ในการทำงาน เมื่อต้องออกไปทำข่าวที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอิทธิพล หรือมีอันตราย หรือในพื้นที่จลาจล สงคราม หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้ นักหนังสือพิมพ์ได้รับการถูกข่มขู่ ถูกทำร้าย หรือถูกทำอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือประสบอันตราย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจถึงตายหรือบาดเจ็บได้

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  1. สำเร็จการศึกษาในสาขาสื่อสารมวลชน วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง คือเฉพาะสายงานที่สำคัญ เช่น เศรษฐกิจการเงินการธนาคารซึ่อาจรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขานั้นโดยตรง 
2. มีความสนใจความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ และสถานการณ์ของประเทศและโลก 
3. มีความสนใจ ตั้งใจ รักในอาชีพขวนขวายหาความรู้ และค้นคว้าหาข้อมูลความจริงของข่าว ในทางลึก และทางกว้าง 
4. มีความรู้ภาษาต่างประเทศ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด 
5. มีทัศนคติที่ดี มีความเป็นกลาง มีความยุติธรรม และพร้อมที่จะถูกตรวจสอบจากประชาชนผู้บริโภค 
6. สามารถเข้าใจสถานการณ์ คาดการณ์สถานการณ์รวมทั้งสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือข่าวที่เกิดขึ้น ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สมเหตุสมผล และเป็นไปในลักษณะของการ สร้างสรรค์ และประเทืองความรู้แก่ประชาชน 
7. มีความรับผิดชอบสูง ซื่อสัตย์ มีสัจจะ สุขุมรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน 
8. มีความกล้าหาญอดทน มีความมั่นใจในตนเอง ไม่ท้อถอยในงานที่ต้องรับผิดชอบ 
9. สามารถเดินทางไปทำข่าวได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก 
10. มีสุขภาพแข็งแรง 
11. มีสังคมและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว และเป็นที่ไว้วางใจของแหล่งข่าวในการเสนอข่าว สามารถเก็บรักษาความลับที่มาของแหล่งข่าว อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อแหล่งข่าวได้ 
12. ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์โดยส่งเสริมภราดรภาพ ละเว้นการถือเอาประโยชน์ของเพื่อนสมาชิก ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่รับสินจ้างรางวัลหรือผลประโยชน์ใดๆ อันเป็นเครื่องจูงใจไม่ให้เคารพต่อหน้าที่ และวิชาชีพของตน รักษา และส่งเสริมเกียรติคุณ และชื่อเสียงแห่งความเป็นนักหนังสือพิมพ์ไว้เป็นอย่างดี อันเป็นจรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์ที่กำหนดขึ้นโดยสมาคม นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2498 แก้ไขเพิ่มเติม 2507 และต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้ง 
ผู้ที่จะประกอบนักหนังสือพิมพ์-Journalists ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้คือ : สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะต่างๆ ดังที่กล่าวมา และยังต้องมีความรู้ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี มีความสามารถในการถ่ายทอด มีความสนใจทางด้านศิลปะการสื่อสารความหมายประเภทต่างๆ รักการอ่าน การเขียน มีความรู้ทั่วไป

โอกาสในการมีงานทำ
  จุดเปลี่ยนของวงการสื่อมวลชนของประเทศไทยนั้นสวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา สื่อภาคเอกชนต่างแข่งขันกันในเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้วงการสื่อมวลชนมีการแข่งขันกันสูงและเข้มข้นเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในการเสนอข่าวอันเป็นวิธีการหนึ่งของการขยายฐานการตลาด 
อุปกรณ์การสื่อสารในปัจจุบันสามารถส่งข่าวได้รวดเร็วจากทุกมุมโลก อินเตอร์เน็ต และอีเมล ทำให้การเสนอข่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและไร้พรมแดน การแข่งขันไม่ใช่เกิดขึ้น เฉพาะใน วงการหนังสือพิมพ์ไทยเท่านั้น ที่ต้องแข่งขันกันเอง แต่ยังต้องแข่งขันกับสื่ออื่นๆ ในประเทศ และหนังสือพิมพ์ต่างประเทศทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนเนื้อหาข่าวและการซื้อขายข่าว ดังนั้นการรายงานข่าวในปัจจุบัน จึงมีความเป็นสากลมากขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก จึงนับเป็นโอกาสอันดีของนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ๆที่มีความพร้อมมีความเข้าใจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ จะสามารถปฏิบัตินักหนังสือพิมพ์-Journalistsได้อย่างกว้างขวางทั้งใน และนอกประเทศ 
โอกาสในการมีงานทำในปัจจุบันของนักหนังสือพิมพ์มีให้เลือกมากมายสำหรับผู้ที่มี ความสามารถหลายด้าน ผู้ที่จะประกอบนักหนังสือพิมพ์-Journalistsนอกจากจะต้องมีความสามารถในการเขียนข่าว เป็นภาษาไทยแล้ว ต้องมีความเข้าใจในภาษาต่างประเทศและภาษาคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะในวงการนี้มีการซื้อข่าว ขายข่าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกทั้งสื่อสิ่งพิมพ์มีความจำเป็นต้องขยายฐานธุรกิจ และปรับตัวให้ก้าวทันการพัฒนาของธุรกิจสื่อสาขาโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี และอินเตอร์เน็ตซึ่งก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสื่อที่ประชาชน กลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน 
นักหนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพ นอกจากจะได้รับการว่าจ้างจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ตั้งขึ้นในประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีโอกาสได้รับการ ว่าจ้างจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศด้วย ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสื่อประเภทอื่นได้ สื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้ปรับกลยุทธ์การเสนอข่าวโดยส่งนักหนังสือพิมพ์ ออกทำข่าวในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน ส่วนในประเทศ ก็ยังมีความต้องการ นักหนังสือพิมพ์สายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสื่อที่เพิ่งเกิดอย่างอินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  ในการประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีความสามารถจะมีโอกาสเจริญเติบโต ก้าวหน้าไปตามลำดับคือหัวหน้าข่าว บรรณาธิการสายข่าว จนถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรืออาจได้รับความ ไว้วางใจจากเจ้าของสื่อ และนักข่าวให้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ซึ่งมีความ รับผิดชอบสูงมากเท่ากับ ผู้เป็นเจ้าของกิจการ 
ในกรณีที่นักหนังสือพิมพ์ มีความสามารถเฉพาะตัว คือใช้ภาษาต่างประเทศได้ ก็มีโอกาสก้าวไปสู่การทำงานในสำนักข่าวต่างประเทศ นอกจากนี้นักหนังสือพิมพ์ อาจพัฒนาจากการเขียนข่าวมาเป็น นักเขียน นักประพันธ์ ที่ต้องใช้จินตนาการ และทักษะการเขียน และภาษาสูงกว่าการเขียนข่าว นับเป็นการก้าวหน้าและการพัฒนาฝีมือไปอีกระดับหนึ่ง

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  นักประชาสัมพันธ์ นักเขียนบทวิทยุและโทรทัศน์ นักเขียนสารคดี นักเขียนนวนิยาย บรรณาธิการข่าววิทยุและโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี ข่าวทางอินเตอร์เน็ต นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ พิธีกร นักวิเคราะห์ ข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ ช่างภาพ อาจารย์พิเศษ ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทยในเครือข่ายวิทยุต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวประจำสถานทูต หรือองค์กรระหว่างประเทศ นักเขียนบทโฆษณานักแปล

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ และหนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยในทบวงมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเปิดทุกแห่ง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่สนใจรับนักหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ แหล่งจัดหางานของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับอินเตอร์เน็ต สำนักข่าวต่างประเทศ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และกรมประชาสัมพันธ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น