วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โภชนากร-Nutritionists

โภชนากร-Nutritionists


นิยามอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานโภชนากร-Nutritionists ได้แก่ผู้วางแผนงานควบคุม และสั่งงาน เตรียมกำหนดอาหารตามหลักโภชนาการให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล คณะบุคคล ชุมชนในท้องถิ่น และโรงงานหรือสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยการคำนวณคุณค่าของอาหาร ให้คำแนะนำในการถนอมอาหาร การแปรรูปอาหาร การแปรรูปผลิตผลเกษตรเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารและการบริโภคให้ถูกสุขลักษณะ

ลักษณะของงานที่ทำ
  ผู้ประกอบโภชนากร-Nutritionists ต้องเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าของวัตถุดิบอาหาร ผลิตภัณฑ์ และแหล่งวัตถุดิบ และทำหน้าที่หลักดังนี้
1. แนะนำและให้ความรู้พื้นฐานในการแก้ปัญหาด้านสุขอนามัย เกี่ยวกับโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหารที่บริโภคต่อสาธารณชน หรือผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ผลิต
2. วิเคราะห์วิจัยคุณค่าทางอาหาร คุณสมบัติ สรรพคุณ และศักยภาพของอาหารที่ต้องการนำมาแปรรูป เช่น เนื้อสัตว์ พืช ผักและผลไม้ที่ต้องการนำมาประกอบอาหาร และแปรรูปใน ห้องปฏิบัติการทดลอง อาจใช้การทดลองทางเคมี เพื่อหาคุณค่ากรดหรือด่างในอาหาร หรือจำนวนสารผสมอาหารทางเคมี ที่สามารถใช้เจือปนในอาหารได้ หรือหาสารตกค้างต่างๆ จัดทำฉลากคุณค่าทางโภชนาการ
3. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการสาธิตการประกอบอาหาร และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ ใช้บริโภคการถนอมอาหาร การแปรรูป และคิดค้นวิธีการแปรรูปใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตผลการเกษตร เมื่อผลิตผลมีราคาต่ำ โดยนำเทคโนโลยีชาวบ้านหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยในกระบวนการผลิตให้ถูกอนามัยและปลอดภัย
4. จัดทำประมาณการต้นทุนการผลิต จัดหาแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งตลาดที่เหมาะสม และให้ข้อมูลด้านการผลิตเพื่อการอุตสาหกรรม การส่งออก และการกีดกันทางการค้าจากสัญญาต่างๆ
5. เก็บรวบรวมข้อมูล และผลิตเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับโภชนาการให้กับกลุ่มผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายให้ได้ทราบเพื่อสุขภาพที่ดี และให้ ความรู้ในการป้องกันการแพ้สารอาหารต่างๆ
ทำงานร่วมกับ เจ้าหน้าที่ต่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำงาน เช่น นักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักเทคโนโลยีอาหาร (Food Technologist)นักวิทยาศาสตร์สาขาจุลชีวะ และนักวิชาการเกษตร

สภาพการจ้างงาน
  ผู้ประกอบโภชนากร-Nutritionists อาจปฏิบัติหน้าที่ในภาครัฐบาล เช่น เคหกิจเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม
ผู้ประกอบโภชนากร-Nutritionistsในภาคเอกชนอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามตำแหน่งหน้าที่ และสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ หรือหน้าที่ในโครงการต่างๆ ที่ได้รับการว่าจ้าง ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ จะได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต้น เป็นเงินเดือน โดยประมาณดังนี้

           ประเภทองค์กร           เงินเดือน
                ราชการ                    6,360
                 เอกชน              8,500-10,000

ในส่วนเอกชนอาจได้รับโบนัส และสิทธิพิเศษอื่น ๆ ตามผลประกอบการของบริษัท

สภาพการทำงาน
  ผู้ประกอบโภชนากร-Nutritionists อาจทำงานในโรงพยาบาล โรงแรม สถานประกอบกิจการอาหารสำเร็จรูป สถานประกอบการทางด้านอาหารเสริม ในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรชุมชนทุกจังหวัด โรงงานผลิตน้ำผลไม้ แเละเครื่องดื่ม บริษัทยาและเคมีภัณฑ์ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานโภชนากร-Nutritionists จะปฏิบัติงานในห้องเรียนห้องเตรียมอาหาร ห้องปฏิบัติการทดลอง หรือมีการออกแนะนำให้คำปรึกษานอกพื้นที่ ในชุมชน อำเภอ และ ต่างจังหวัด หรือในห้องทดลองในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ และเครื่องมือทางเทคโนโลยีการอาหาร การใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยในการปฏิบัติงาน ตรวจวัดค่าอาหาร และการบันทึก

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
  ผู้ประกอบโภชนากร-Nutritionists ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยประโยควิชาชีพชั้นสูงทางด้านคหกรรมศาสตร์สาขาอาหาร และระดับปริญญาตรีสาขาโภชนาการ วิทยาศาสตร์การอาหาร หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
2. รักการประกอบอาหาร และวิเคราะห์ วิจัยอาหาร
3. มีความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษ ได้ดี
4. มีความเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี
5. เป็นนักวางแผนงานที่ดี
6. มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นนักประสานผลประโยชน์และประสานงานที่ดี
7. เป็นนักคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตและแปรรูปอาหาร
ผู้ที่จะประกอบโภชนากร-Nutritionists ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ อาจศึกษาต่อในวิทยาลัยของกรมอาชีวศึกษา ส่วนผู้สำเร็จมัธยมการศึกษาตอนปลายสายสามัญอาจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในคณะคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหาร และโภชนาการ สถาบันเทคโนโลยี ราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง

โอกาสในการมีงานทำ
  ปัจจุบันนี้ อาชีพโภชนากรกำลังเป็นที่ต้องการ ในการผลิตอาหารในชุมชนตามเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญาในท้องถิ่น เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจากสมุนไพร การหมักดอง เชื่อม หรือการทำเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านก็เข้าข่ายการยกระดับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพของ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน และยังต้องขออนุญาตผลิต และจำหน่ายจากคณะกรรมการอาหารและยาอีกด้วย นับเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากชุมชนมีมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีตลาดแรงงาน ทั่วประเทศรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาดังกล่าว
ในสถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารไทยได้ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตสินค้าอาหาร มีพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรมที่มั่นคง ผลผลิตการเกษตรเพียงพอที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นสินค้าอาหาร มูลค่าการส่งออกสูงในระดับต้นคือประมาณ 300,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกและเพื่อให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ไทยต้องดูแล ในมาตรการทางสุขอนามัย มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการตัดต่อทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต (GMOs) และใบรับรองสุขอนามัยพืช ด้วยเหตุนี้กระทรวง สาธารณสุขจึงได้ออกกฎหมายให้มีการใช้หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพพื้นฐาน สำหรับโรงงานผลิตอาหารที่ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์อาหาร และทำให้สินค้านั้นมี คุณภาพ และปลอดภัยในการบริโภคอาหาร และสอดคล้องกับกระแสการค้าของโลกในปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบกิจการอาหารทุกแห่งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออกได้ตระหนักถึงกระบวนการในการผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและเพื่อให้ได้เปรียบในเชิงแข่งขัน จึงต้อง มีการว่าจ้างบุคลากรที่มีความรู้ในด้านโภชนาการ วิทยาศาสตร์การอาหาร และเทคโนโลยีการอาหาร เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มากขึ้น
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านนี้ สามารถทำธุรกิจของตนเองทางด้านอาหารที่ใช้ต้นทุนน้อยหรือสามารถรวมกลุ่มเป็นชมรม เพื่อนำโครงการและงบประมาณที่ต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ เสนอของบประมาณการลงทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตร โดยเจาะเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เช่น ผลิตอาหารจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ผลิตอาหารแปรรูป ผลิตน้ำผักและผลไม้ หรือคิดค้นกรรมวิธี ผลิตใหม่ จากวัสดุ ท้องถิ่น เป็นต้น

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
  ผู้ปฏิบัติงานโภชนากร-Nutritionistsในภาครัฐ ถ้ามีความสามารถ หรือได้รับการอบรม หรือศึกษาเพิ่มเติม จะได้รับการ เลื่อนขั้น จนถึงตำแหน่งผู้อำนวยการได้
สำหรับในภาคเอกชนเมื่อมีประสบการณ์ มีความสามารถและมีความรู้หรือได้รับการอบรมในเรื่องของระบบควบคุมคุณภาพ และการจัดทำระบบ HACCP อาจได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนชั้นตามสายงานในองค์กรคือเป็นผู้อบรมระบบการจัดการ HACCP ผู้จัดการแผนกวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดการ ผู้อำนวยการโรงงานผลิต อุตสาหกรรม

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
  ครู - อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และพัฒนา(Research & Development) นักการตลาด ตัวแทนการขาย หรือผู้ประสานงานโครงการระหว่างประเทศ

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  สถาบันอาหาร (National Food Institute of Thailand) www.nfi.or.th โทร. 652 5335-40 สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารและเครื่องดื่ม -ประเทศไทย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สมาพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางอาหารในอาเซียน โทร. 642 5322-31 การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น